วันพฤหัสบดีที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

กล้วยไม้ป่าหินงาม ตอนที่ 2 (1 กุมภาพันธ์ 2557)

     เมื่อ 13 ตุลาคม 2556  เราได้บันทึกความรู้สึกอันเปี่ยมล้นของการค้นพบบนผืนป่าแห่งนี้ไปแล้ว  ได้เปรียบเทียบกับผืนป่าต่าง ๆ ที่เคยเดินทางผ่านมาทำให้รู้ว่าที่อุทยานแห่งชาติป่าหินงามนี้มีความพิเศษอยู่มากทีเดียว  โดยเฉพาะกับกล้วยไม้ที่ยังคงมีอยู่มากทั้ง ๆ ที่น่าจะถูกคุกคามอย่างหนัก  จากภาพในกล่องความทรงจำและจากที่เพิ่งได้ออกสำรวจมา  ถือว่าที่นี่มีกล้วยไม้จำนวนมากจริง ๆ เพราะต้นไม้เกือบทุกต้นบริเวณผาสุดแผ่นดินจะมีกล้วยไม้อย่างน้อย 1 ชนิดเกาะอยู่

     ครั้งก่อนที่มาสำรวจผมเลือกที่จะขอผ่านเส้นทางศึกษาธรรมชาติบริเวณผาสุดแผ่นดิน (ต่อจากนี้ผมจะเรียกว่า เทรลผาสุดแผ่นดิน) ไปก่อน  และครั้งนี้ผมตั้งใจเป็นอย่างยิ่งที่จะมาสำรวจเส้นทางสายนี้โดยเฉพาะ  ตั้งแต่จอดรถผมได้รับการต้อนรับจากเหล่าดอกไม้ขนาดเล็กจิ๋วที่ออกดอกบานสะพรั่งไปทั่ว  ไม่ว่าจะมองไปบนคาคบไม้ของต้นไม้ต้นไหนก็จะเจอแทบทั้งนั้น  ตอนแรกปัญญาอันน้อยนิดของผมเริ่มทำงานเหมือนเดิมอีกครั้งคือด่วนสรุปชนิดว่าคงเป็นสิงโตรวงข้าวชนิดใดชนิดหนึ่งไปก่อน  แต่ระหว่างเดินบนเส้นทางก็มีเฉลียวใจว่าสิงโตรวงข้าวออกดอกช่วงนี้เหรอ???  แล้วก็เก็บความสงสัยไว้ในใจตลอดเส้นทาง
Bulbophyllum propinquum
     จนเมื่อมาเจอต้นที่อยู่ใกล้ ๆ ในระดับสายตา  ก็ได้พิจารณาอย่างละเอียดและรอบคอบมากขึ้น  ก็รู้สึกเอะใจเล็กน้อยที่บางสิ่งบางอย่างมันบอกว่าไม่น่าจะเหมือนกันกับสิงโตรวงข้าวเท่าไหร่นัก  แต่ก็ยังหาคำตอบไม่ได้เพราะปัญญาผมมันน้อยนิดจริง ๆ 
Bulbophyllum propinquum
     ตลอดเส้นทางผมพบว่าเทรลผาสุดแผ่นดินนี้มีกล้วยไม้เยอะมาก เช่น เอื้องเงิน Dendrobium draconis เอื้องทอง Dendrobium ellipsophyllum เอื้องเค้ากิ่ว Dendrobium signatum ที่ผมบันทึกหมายไว้เรียบร้อยแล้ว  และชนิดที่คาดว่าน่าจะใช่อย่าง เอื้องข้าวตอก Dendrobium compactum สิงโตรวงข้าวน้อย Bulbophyllum parviflorum เอื้องเบี้ยไม้ใบขน Trichotosia dasyphylla เอื้องกระต่ายหูเดียว Thrixspermum centipeda  ซึ่งหลายต้นจะออกดอกช่วงมีนาคม-เมษายนนี้  ก็คงต้องมีบันทึกกล้วยไม้ป่าหินงาม ตอนที่ 3-4 ต่อไป

Trichotosia dasyphylla เอื้องเบี้ยไม้ใบขน

     และที่สำคัญก็คือเจ้าสิงโตต้นนี้ที่กว่าผมจะได้คำตอบก็ต้องค้นทางอินเตอร์เน็ตจนไปเจอกับเอกสารการวิจัยชนิดพันธ์ุกล้วยไม้ในป่าหินงามเข้าโดยบังเอิญ  จึงได้รู้ว่าตัวนี้เป็น Bulbophyllum propinquum (ไม่มีชื่อไทย) ที่เพิ่งจะมีการรายงานพบการกระจายพันธุ์เพิ่มเติม  ซึ่งเดิมทีพบเพียงในเขตจังหวัดเชียงใหม่เท่านั้น
Dendrobium draconis เอื้องเงิน
     สรุปทริปนี้เจอกล้วยไม้ออกดอกเพียงแค่ชนิดเดียว  แต่เป็นชนิดที่เรียกได้ว่าระดับ Rare Item ก็ว่าได้  เพราะทั้งประเทศเจอเพียงแค่สองที่เท่านั้น  จากทริปนี้ผมได้หมายกล้วยไม้ที่เป็นรายงานวิจัยที่จำแนกชนิดของกล้วยไม้ในป่าหินงามไว้ถึง 37 ชนิดด้วยกัน  งานเข้าแล้วครับทีนี้







วันจันทร์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2557

กล้วยไม้ตาดโตน ตอนที่ 1 (26 มกราคม 2557)

     เริ่มต้นจากครั้งก่อน (13 ตุลาคม 2556) ผมได้กำหนดพื้นที่ในการออกสำรวจพันธุ์กล้วยไม้ป่าในธรรมชาติ  ซึ่งจำเป็นที่จะต้องออกสำรวจทุก ๆ เดือน จึงทำให้การเดินทาง (26 มกราคม 2557) เกิดขึ้นอีกครั้ง  แต่กลับไม่ได้มุ่งตรงไปในพื้นที่อุทยานแห่งชาติป่าหินงามแต่อย่างใด  ด้วยกริ่งเกรงใจคนข้าง ๆ ที่เค้าไม่ได้ชื่นชอบกล้วยไม้แบบเรา  แต่ก็ยังอุตส่าห์ตามไปด้วยทุกที่  ด้วยเหตุผลอย่างนี้จึงทำให้ต้องเลือกอุทยานแห่งชาติตาดโตน  เพราะที่นี่เต็มไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวก  ร้านค้า  ร้านอาหาร  ร้านกาแฟ  และที่สำคัญน้ำตกมีน้ำไหลตลอดปี  เนื่องจากมีเขื่อนอยู่บริเวณต้นน้ำนั่นเอง

     เกริ่นมาเสียนานมาเข้าเรื่องกันดีกว่าครับ  ผมเคยมาสำรวจที่นี่หลายครั้งแล้ว  และพอจะจำหมายกล้วยไม้ได้บ้าง  อย่างเขาแพะและตาลหินที่เคยได้มาเจอครั้งก่อนบริเวณลานกางเต็นท์  เชื่อมั้ยครับว่าแค่สองต้นนี้แหละที่ทำให้ผมตัดสินใจถ่อมากว่า 140 กม. เพียงเพื่อหวังว่าจะได้ยลโฉมสคราญเจ้าอีกสักครา  แต่ไม่ (ที่จริงคือ ม๊าาาายยยย) ผมเจอต้นของเขาแพะ  แต่เค้าไม่มีดอกช่วงนี้  มองไปบนต้นไม้ก็เจอกล้วยไม้ขึ้นขนัดอยู่บนคาคบไม้  แต่ก็ไม่มีดอกช่วงนี้เหมือนกัน  เมื่อเป็นแบบนี้ผมจึงต้องเลือกเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ซึ่งต่อจากนี้ผมจะเรียกว่า เทรล 1 เผื่อจะมีโอกาสได้เห็นกล้วยไม้สักชนิดที่กำลังผลิดอกบ้าง
Vanda lilacina เข็มขาว,กล้วยไม้หางปลา

     ตลอดเส้นทางของเทรล 1 ไม่มีอะไรนอกจากไม้ยืนต้นกับเส้นทางที่ถูกสร้างไว้อย่างดี  สายลมหน้าหนาวยังคงห่มคลุมทั่วทั้งผืนป่าทำให้ผมกับแฟนไม่ได้รู้สึกว่าร้อนอะไรมากนัก  เดินไปไกลจนผมแทบถอดใจว่าคงไม่ได้เจออะไรแน่ ๆ เลย  นอกจากต้นกล้วยไม้ที่อยู่นอกช่วงฤดูดอก  ทั้งกะเรกะร่อน กุหลาบเหลืองโคราช  แต่จะด้วยเมตตาจากเจ้าป่าเจ้าเขาหรือโชคชะตาที่นำพาให้เราต้องมาเจอ  สายตาผมก็กวาดไปเห็นดอกสีขาว ๆ เล็ก ๆ บนต้นไม้เข้าจนได้  กล้วยไม้ที่อวดดอกให้ได้เห็นชนิดแรกนี้ก็คือเข็มขาวดอกเล็ก ๆ เพียง 3 ดอกที่น่าจะหลงฤดูบานในช่วงนี้  เจ้าต้นนี้ผมเคยปลูกเลี้ยงไว้ที่บ้าน  แต่ด้วยปัญหาบางอย่างทำให้ผมต้องย้ายเค้าไปไกลตัวและจำต้องอยู่กับผู้ที่ไม่เคยเข้าใจเค้า  จนตอนนี้เค้าได้ลาจากโลกนี้ไปเสียแล้ว
     ไม่นานจากกล้วยไม้ต้นแรกที่พบ  ด้วยความบังเอิญในขณะที่ผมเอี่ยวซ้ายป่ายขวามองหาจุดสังเกตุต่าง ๆ ที่พอจะทำได้  แฟนผมก็หยุดหันมาคุยด้วย  จากการพูดคุยที่ต้องมองหน้ากันวินาทีนั้นผมก็เหลือบไปเห็นดอกไม้ขนาดเล็กที่มีลักษณะแปลกไปกว่ากล้วยไม้ชนิดอื่นใด  นั่นก็คือไม่มีลำลูกกล้วยไม้ที่จะทำให้เรียกว่ากล้วยไม้ได้  เพราะสิ่งที่เห็น ณ ตอนนั้นคือราก..ราก..ราก..และดอกเท่านั้น ด้วยลักษณะพิเศษแบบนี้จะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก “พญาไร้ใบ” นั่นเอง 
Chiloschista parishii พญาไร้ใบ

     ด้วยความแปลกของเจ้าต้นนี้ก็คือ ทั้งต้นมีเพียงรากกับดอกเท่านั้นให้เห็น (อย่างในภาพนี้เลยจริง ๆ นะ) ดอกมีขนาดเล็กเพียงแค่ 1.5 ซม.  ภาพนี้ต้องใช้ท่อมาโครต่อเข้ากับ70-300ถึงจะได้ภาพนี้มา  เล็งแล้ว เล็งอีก ส่องแล้ว ส่องอีก จนคนที่ไปด้วยถามว่าทำไมถ่ายนานจัง  ก็มันยังไม่ได้ใจน่ะ เคยเป็นกันมั้ยครับ ที่ว่าทำไปแล้วมันยังไม่ใช่น่ะ  นั่นแหละอารมณ์ผมตอนนั้น
Chiloschista parishii พญาไร้ใบ
     ขนาดต้นและดอกเทียบกับนิ้วมือครับ  สรุปทริปนี้เจอกล้วยไม้เพียงแค่ 2 ชนิด  แต่โดนใจสุด ๆ เพราะได้เห็นดอกของพญาไร้ใบ  ส่วนหมายกล้วยไม้ก็ได้มาเพิ่ม  ไม่ว่าจะเป็นกล้วยไม้สกุล Vanda sp. ที่มีอยู่มากบนคาคบไม้บริเวณลานกางเต็นท์  เขาแพะ (Cleisostoma sp.) ตรงต้นไม้ปากทางเข้าเทรล 1 เอื้องกุหลาบเหลืองโคราช (Aerides houlettiana) บริเวณก่อนถึงจุด
เจอพญาไร้ใบ และกล้วยไม้ดินที่เหลือเพียงช่อดอกที่ติดฝักจนแห้งกรอบบริเวณเดียวกันกับที่เจอพญาไร้ใบ

วันอังคารที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

กล้วยไม้ป่าหินงาม ตอนที่ 1 (13 ตุลาคม 2556)

จากที่เคยเกริ่นไว้ว่า จุดเริ่มต้นเกิดขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม 2556 เพราะคิดว่าที่บริเวณสวนหินงามน่าจะมีกล้วยไม้อย่างเอื้องม้าวิ่งออกดอกบ้าง แม้จะไม่เคยเห็นต้นของเค้าเลยก็ตาม แต่ผมไม่ได้ตั้งใจที่จะไปค้นหาเอื้องม้าวิ่งซะทีเดียว กลับมุ่งไปที่หน้าผาสุดแผ่นดินก่อนเป็นอันดับแรก ลมเย็นที่ผสมไอฝนจาง ๆ พัดเข้ามากระทบทันทีที่ไปถึง ลานหินกว้างข้างหน้าถูกจัดวางอย่างลงตัวตามธรรมชาติ ภาพในอดีตหวนมาเพียงแว๊บเดียว ผมจำได้ว่าเคยเห็นลำลูกกล้วยไม้ประเภทสิงโตที่นี่ ไม่อยากเสียเวลาอีกต่อไปแล้ว ผมเริ่มต้นการค้นหาทันที เริ่มจากฝั่งขวาของหน้าผาลานโล่งกว้างมีศาลาอยู่ที่ปลายสุด ต้นไม้ที่ยืนต้นอยู่ริมผาไม่มากนัก มองขึ้นไปก็เจอกับชนิดแรก

Eria dasypus เอื้องนิ่ม

เพียง 3 ดอกเท่านั้นที่หลงเหลือ 70-300 ก็ทำหน้าที่ของมันด้วยระยะที่ 300 สุดความสามารถมัน ก็ได้ภาพมาเท่านี้ เมื่อเจอต้นแรกแล้วก็ไม่รอช้าที่จะค้นหาต่อไป ชำเลืองไปเห็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติก็คิดว่าคงมีเวลาไม่มากพอ เอาไว้ครั้งหน้าดีกว่า คิดได้อย่างนั้นแล้วก็รีบเดินไปทางฝั่งซ้ายของหน้าผา แม้จะเป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติเหมือนกันแต่เคยผ่านตามาบ้างแล้ว ก็เลยคิดว่าคงจะจำกัดระยะทางได้พอสมควร เริ่มออกเดินไม่นานก็เจอกัน บนต้นไม้อีกแล้วแต่มุมและจุดที่เค้าอยู่มันถ่ายไม่ยากเท่าไหร่ ชนิดนี้เคยเจอกันมาก่อนแล้วตอนอยู่บนภูกระดึง ครั้งนั้นขึ้นอยู่บนลานหิน
Coelogyne trinervis เอื้องหมาก
กอนี้บนต้นไม้ช่อดอกที่ห้อยลงยิ่งทำให้ดูสวยเด่น แถมกอขนาดใหญ่อีกต่างหาก เดินไปอีกไม่ไกลแต่ค่อนข้างใช้เวลาเพราะต้องใช้สายตาสอดส่องไปทั้งบนต้นไม้ และตามพื้นดิน จนสายตาไปกระทบเข้ากับเจ้าดอกไม้เล็ก ๆ อยู่ต้นนึงที่ข้างขา ครั้งแรกที่เห็นก็เห็นเพียงต้นเดียว แต่พอหยุดยืนมองสักพักถึงได้รู้ว่ามันขึ้นอยู่เป็นดงเลย สวย หวาน น่ารักมาก
Tainia angustiforia เอื้องสีลา
ผมใช้เวลานานมากกับตรงนี้ ก็จะให้น้อยได้ยังไงกัน ในเมื่อได้มาอยู่กลางดงดอกกล้วยไม้ ตอนนี้ผมจินตนาการตัวผมเองเป็นเหล่าภมร กำลังร่อนเริงร่าอยู่กลางดงดอกบุปผา โบยบินไปทางไหนก็เจอแต่สิ่งสวยงาม หลังจากชื่นชมอยู่นานพอสมควรแล้ว ก็ต้องรีบออกจากผาสุดแผ่นดิน เพราะตามแผนที่วางไว้ก่อนมาที่นี่จะต้องไปป่าหินงามเป็นหลัก แต่นี่ดันมาเจอที่บริเวณหน้าผาเสียก่อน จากนี้จึงค่อนข้างทำเวลาสักหน่อย พอมาถึงก็จ้ำอ้าวเข้าไปในสวนหิน ครั้งก่อน ๆ ที่เคยมาไม่เคยสะดุดตาอะไรกับตรงนี้เลย แต่คิดว่าลานหินแบบนี้น่าจะมีพวกม้าวิ่งให้เห็นบ้าง แต่ที่ผิดคาดเลยก็คือเจอเจ้านี่ที่บานอยู่เป็นหย่อม ๆ
Spathoglottis affinis เหลืองพิศมร
จากนั้นไม่กี่ก้าวต่อมาก็ได้เจอกับเจ้าภาพในทริปนี้ที่พยายามดั้นด้นมาดู แม้จะมีอยู่เพียงน้อยนิด แต่กลับทำให้ได้เจอกับชนิดอื่น ๆที่ไม่ได้คาดหวังไว้ มาดูโฉมหน้ากันเต็ม ๆ สักที
Doritis pulcherrima เอื้องม้าวิ่ง
เจ้าต้นนี้ผมได้พบเจอกันบ่อยพอสมควรในป่าธรรมชาติหลากหลายพื้นที่ ไม่ว่าจะผาแต้ม ภูฝอยลม ภูเรือ ภูกระดึง ภูเวียง และก็ที่นี่ป่าหินงาม ด้วยต้นที่มีเอกลักษณ์จดจำได้ง่าย แม้ไม่มีดอกให้เห็นก็รู้ว่าเป็นเจ้าตัวนี้แน่นอน และดอกที่สวยงามแม้จะเป็นกล้วยไม้ที่หาดูได้ง่ายในช่วงเดือนตุลาคม แต่ก็อดที่จะมองไม่ได้สักครา หลังจากที่ได้พบเจอกับเจ้าภาพเรียบร้อยแล้ว งานก็น่าจะจบลงสักที ผมก็กลับออกมาจากสวนหิน ด้วยใจที่แม้จะอิ่มเอมกับสิ่งที่ได้พบเจอแล้วนั้น ก็หาได้ทำให้ผมรู้สึกเพียงพอ ยังคงรั้งรอการจากลาออกไปก่อน ผมยังคงตระเวนหาเผื่อสายตาจะคลาดผ่านต่อบางสิ่ง จนสายตาเหลือบไปเห็นสีขาว ๆ ไหว ๆ อยู่ในพงหญ้าหลังอาคารหน้าทางเข้าสวนหิน ด้วยด้อยปัญญาจึงด่วนสรุปสิ่งที่เห็นว่านั่นคือ ของที่เคยได้ประสบแล้ว จึงไม่ได้ตระหนักที่จะรู้สึกชื่นชม แต่ด้วยไหนก็มาแล้วก็เลยกดภาพมาสักหน่อยก็คงดี แช๊ะ แช๊ะ…..แช๊ะ
Habenaria dentata นางอั้วน้อย
กลับมาถึงบ้านเอารูปที่ถ่ายมาออกมาดูอย่างละเอียด ถึงกับดีใจที่ตอนนั้นได้ถ่ายรูปไว้ ด้วยความเข้าใจของปัญญาอันน้อยนิดที่คิดว่า เจ้าตัวที่เราเห็นคือ Habenaria lindleyana หรือ นางตายน้อย แต่เป็นเจ้ารูปนี้ต่างหาก และที่สำคัญยังไม่เคยได้เจอที่ไหนมาก่อนเลย สรุปทริปนี้ผมได้รู้จัก ชื่นชม และบ่มเพาะความรู้จากกล้วยไม้ทั้งสิ้น 6 ชนิดด้วยกัน และเป็นจุดกำเนิดความอยากรู้อยากลองในการตามรอยนักวิจัย จนทำให้มีทริปกล้วยไม้ตามมาอีก โดยเลือกที่จะใช้อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม อ.เทพสถิตย์ จ.ชัยภูมิ เป็นฐานหลักในการตามรอย

Orchid Diary

ตั้งใจว่าจะเขียนบันทึกถึงเหตุการณ์ ที่ได้ออกค้นหากล้วยไม้ในป่าธรรมชาติเก็บไว้รำลึกเมื่อวันที่ย้อนกลับมาอ่านมันอีกครั้ง ว่าเคยเจอที่ไหน เมื่อไหร่ อะไร ยังไงบ้าง ก็เลยเกิดไอเดียขึ้นมาว่า “Orcrid Diary หรือบันทึกกล้วยไม้” ที่จริงการออกเดินทางหากล้วยไม้จริง ๆ เกิดขึ้นเมื่อประมาณกลางเดือนตุลาคม 2556 แต่ตอนนั้นยังไม่คิดที่จะเขียนบันทึกเล่มนี้ เพราะว่ามีงานเขียนบันทึกการเดินทางค้างอยู่หลายปี ถ้าจะเขียนก็กลัวว่าจะขุดเรื่องมาเขียนไม่ออก แต่เมื่อการเดินทางที่ไม่มีวันหยุดหย่อน หนำซ้ำยังได้ไปอ่านระเบียบวิธีวิจัยอยู่ข้อนึงที่ทางนักวิจัยเค้าจะออกเดินทางเพื่อสำรวจทุกเดือน ก็ยิ่งทำให้มีเหตุการณ์เกิดขึ้นอยู่เรื่อย ๆ พอเข้าปีใหม่ (2557) ผมก็เริ่มที่จะลองออกสำรวจดูบ้าง โดยเลือกเอาอุทยานแห่งชาติที่ไม่ไกลบ้านและเดินทางสะดวกมาก ๆ อย่างป่าหินงาม ยิ่งทำให้มีเรื่องที่เก็บไว้ในใจเยอะแยะ จำเป็นแล้วที่จะต้องเขียน บันทึกเล่มนี้จึงเกิดขึ้น